
ความเป็นมาของเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97(3)
การนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า
เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) หรือเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ เป็นเงินได้ที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เรียกเก็บจาก ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ประเภทใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า หรือผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า พ.ศ. 2553 (ระเบียบกองทุนฯ) เพื่อนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า โดยเรียกเก็บจาก
- ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้ารายใหม่ หมายถึง ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าที่ได้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการปลูกสร้างอาคาร หรือการตั้งโรงงาน ตั้งแต่วันที่ระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยกองทุนพัฒนาไฟฟ้า พ.ศ. 2553 (ระเบียบกองทุนฯ) มีผลบังคับใช้ (ตั้งแต่ 21 ธันวาคม 2553 เป็นต้นไป)
- ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้ารายเดิม หมายถึง ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าที่ได้รับใบอนุญาตเกี่ยวกับการปลูกสร้างอาคาร หรือการตั้งโรงงาน ก่อนวันที่ระเบียบกองทุนฯ มีผลบังคับใช้
โดยผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนพัฒนาไฟฟ้า แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ดังนี้
- ช่วงระหว่างการก่อสร้าง (นับตั้งแต่วันที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าตามสัญญาว่าจ้างผู้รับเหมาเพื่อดำเนินการก่อสร้าง จนถึงวันที่เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ให้นำส่งเงินเป็นรายปีตามกำลังการผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้า ในอัตรา 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี โดยในปีแรกให้จ่ายภายใน 5 วันทำการนับจากวันที่เริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้า สำหรับปีถัดปีถัดไปให้จ่ายภายใน 5 วันทำการแรกของปี
- ช่วงระหว่างการผลิตไฟฟ้า (นับตั้งแต่วันที่เริ่ม COD เป็นต้นไป) ให้นำส่งเงินเป็นรายเดือนภายใน 45 วันนับจากวันสิ้นเดือน ตามปริมาณการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตเพื่อจำหน่ายและใช้เอง ตามชนิดของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า ดังนี้
เชื้อเพลิง | สตางค์/หน่วยไฟฟ้า ที่ผลิตได้ในแต่ละเดือน |
ก๊าซธรรมชาติ | 1.0 |
น้ำมันเตา, ดีเซล |
1.5 |
ถ่านหิน, ลิกไนต์ | 2.0 |
พลังงานหมุนเวียนประเภทลมและแสงอาทิตย์ | 1.0 |
พลังงานหมุนเวียนประเภทพลังงานน้ำ | 2.0 |
ลมร้อนทิ้ง | 1.0 |
พลังงานหมุนเวียนประเภทอื่น ๆ เช่น ก๊าซชีวภาพ ชีวมวล กากและเศษวัสดุเหลือใช้ ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรม และอื่น ๆ | 1.0 |
การบริหารเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) จะจัดสรรเงินที่ได้รับจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า ประเภทใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า หรือผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับกิจการของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ ในสัดส่วนร้อยละ 95 และส่วนที่เหลือร้อยละ 5 จะจัดสรรให้สำนักงาน กกพ. เพื่อดำเนินกิจการ ดังนี้
- สำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เพื่อเยียวยาหรือเบาเทาความเสียหายในเบื้องต้นจากผลกระทบที่มีสาเหตุจากโรงไฟฟ้าตามที่ กกพ. เห็นสมควร
- อุดหนุนให้กับการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าที่ได้รับการจัดสรรเงินจำนวนน้อยไม่เพียงพอต่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูท้องถิ่น ทั้งนี้ จำนวนเงินที่จะได้รับการสนับสนุนให้กับแต่ละท้องถิ่นให้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามที่ กกพ. กำหนด
- เพื่อการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
